ESRI ผนึก มศว นำเทคโนโลยี GIS บรรจุหลักสูตร สานต่อสร้างบุคลากรไอทีป้อนตลาดแรงงานรับโลกยุคใหม่
Montawan / 20 กุมภาพันธ์ 2563 / Categories: ข่าวทั่วไป, งานวิเทศสัมพันธ์

ESRI ผนึก มศว นำเทคโนโลยี GIS บรรจุหลักสูตร สานต่อสร้างบุคลากรไอทีป้อนตลาดแรงงานรับโลกยุคใหม่

          บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้นำด้าน Location Intelligence ด้วยการวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ ๆ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นำเทคโนโลยี GIS บรรจุในหลักสูตรภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ พัฒนาการเรียนการสอนด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่งผู้เชี่ยวชาญด้าน GIS ช่วยเสริมทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ ArcGIS และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GIS มุ่งแก้โจทย์ธุรกิจ สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญป้อนตลาดแรงงาน เผยทักษะด้านเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจำนวนมากกว่า 10,000 คน ต่อปี  โดย ESRI สนับสนุนซอฟต์แวร์สำหรับใช้ในการเรียนการสอน ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ร่วมจัดทำหลักสูตรโดยใช้โปรแกรม ArcGIS​ ไปใช้เพื่อการศึกษา และทำโปรเจ็ค พร้อมร่วมกับอาจารย์ให้โจทย์เชิงธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงธุรกิจ ตั้งเป้าขยายความร่วมมือสู่ภาควิชาคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภายในปีนี้

          นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี เปิดเผยว่า เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมต่างต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพธุรกิจให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ ส่งผลให้ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการบุคลากรคุณภาพที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร โดยมีภาคธุรกิจที่น่าจับตามอง เช่น ธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและโลจิติกส์ ซึ่งมีการแข่งขันทางตลาดสูงและต้องการเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการมองเห็นศักยภาพที่เป็นพื้นฐานของนักศึกษา ที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ เป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือดังกล่าว ที่บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยี GIS ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดสูง โดยจากผลสำรวจของอีไอซี เปิดเผยว่า บุคลากรไอทีที่มีทักษะเฉพาะทางเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจำนวนมากกว่า 10,000 คน ต่อปี 

“การนำเทคโนโลยี ArcGIS โปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้าบรรจุในหลักสูตรภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในครั้งนี้ จะเน้นการเรียนการสอนไปที่ พื้นฐานความรู้ด้าน GIS และการพัฒนาโปรแกรมภูมิสารสนเทศบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ สร้างแอปพลิเคชันแผนที่บนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและแก้ไขข้อมูลแผนที่ ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อนำไปต่อยอด ประกอบการวิเคราะห์เชิงธุรกิจต่อไป โดยในสายงานภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิเคราะห์ออกแบบระบบ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ดูแลด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และด้านคอมพิวเตอร์เซอร์เคียวริตี้ ผู้ดูแลฐานข้อมูลวิศวกรซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ และอื่น ๆ ตลอดจนในภาพใหญ่อย่างการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ”

นางสาวธนพรกล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มเปิดสอนให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยเป็นการบรรยายเกี่ยวกับ GIS นับเป็น 15 คลาสเรียน ต่อเทอม โดยมีเนื้อหาการบรรยาย คือ ความรู้พื้นฐานด้าน GIS  และการสร้างแอปพลิเคชันพร้อมใช้งานด้วยโปรแกรม ArcGIS Online  พัฒนา Android App เบื้องต้น ด้วย Kotlin และพัฒนา Android GIS App ด้วย ArcGIS Runtime SDK และอื่นๆ ทั้งนี้ ในอนาคต ยังมุ่งมั่นที่จะขยายการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีป้อนตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งเป้าขยายความร่วมมือสู่ภาควิชาคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภายในปีนี้

        ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า จากการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ทางมหาวิทยาลัยฯ หรือแม้แต่ตัวนักศึกษาเอง เริ่มตื่นตัวที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยองค์ความรู้ที่ตรงต่อความต้องการของตลาด และสิ่งที่มหาวิทยาลัยฯ มองหาอย่างเช่น เทคโนโลยีจีไอเอส ทางมหาวิทยาลัยเองยังขาดองค์ความรู้ หรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง แต่เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำงาน และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านสายงานดีเวลอปเปอร์ โปรแกรมเมอร์ เน็ตเวิร์ค ซิเคียวริตี้ ซึ่งตลาดกำลังต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนนี้ทาง ESRI ได้เข้ามาเป็นแรงสนับสนุนเพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่พร้อมใช้งานได้ทันที

“ปัจจุบันภาควิชาฯ เปิดการสอนหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีภาคภาษาไทย มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้พร้อมด้านปัญญาและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีความเข้มแข็งทางวิชาการในศาสตร์ของวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีสมรรถนะในการทำงานตอบสนองต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีนิสิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 คน โดยในความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคเอกชนและภาครัฐจะเข้ามาร่วมมือกันผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่ตลาด สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากหลักสูตรไปใช้ในการทำงานเพื่อพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำความรู้ไปพัฒนานวัตกรรมทางคอมพิวเตอร์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงงานแทรชชี่ ถังขยะอัจฉริยะที่สามารถแยกประเภทขยะได้เพื่อนำมารีไซเคิลที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวด National software Contest ครั้งที่ 22  หรือโครงการระบบวิเคราะห์ภาพถ่ายเพื่อทำนายแนวโน้มของปริมาณฝุ่นpm 2.5 และพื้นฐานในการศึกษาต่อ ซึ่งทำให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการเกิดศักยภาพมากขึ้น ในแง่ธุรกิจ บริษัทก็ได้บุคลากรที่มีศักยภาพตรงตามที่ต้องการ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ยังเป็นแรงเสริมสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศชาติอยู่รอดได้”

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีในแง่ของภาควิทยาการคอมพิวเตอร์จะถูกนำมาใช้เป็นอย่างมาก แต่ในภาคอื่น ๆ ยังพบปัญหาในเรื่องการเชื่อมต่อ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ มั่นใจว่าการมาของ 5G จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในด้านนี้มากขึ้น สำหรับแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรในอนาคตจะมีการปรับหลักสูตรเพื่อรองรับสหกิจศึกษาและทำความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น ESRI โดยในอนาคตจะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนนิสิตและอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรในหลักสูตรเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมบุคลากร เพิ่มพูนความรู้ในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง รองศาสตราจารย์ ดร.ปรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ขอบคุณรูปและข้อมูลจาก CDG.or.th

Print
7618

Categories

Archive