แผนแม่บทวิจัย

แผนแม่บทวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2558 – 2562

 

          การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและก้าวหน้าสู่ความเป็นสากล การวิจัยที่มีคุณภาพจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่หรือแนวทางใหม่ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาไปได้โดยไม่ติดขัด การสร้างระบบการวิจัยที่เข้มแข็งมีความจำเป็นในทุกระดับเพราะจะทำให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ในปัจจุบันเราพบว่าการวิจัยในประเทศประสบปัญหาที่หลากหลาย ดังเช่นในเรื่องงบประมาณวิจัยที่ค่อนข้างต่ำเทียบกับงบประมาณของประเทศที่พัฒนาแล้ว  การวิจัยที่เน้นความต้องการของผู้วิจัยมากกว่าประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการงานวิจัย และปัญหาเกี่ยวกับการบูรณาการงานวิจัยข้ามสาขาวิชาที่ยังมีอยู่น้อยเกินไป

          การกำหนดแผนแม่บทการดำเนินการวิจัยผ่านการกำหนดกรอบและทิศทางการวิจัยที่ชัดเจนและมีความสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างแท้จริง

          คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดแผนการดำเนินการวิจัยที่มีการวางกรอบและทิศทางการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับพันธกิจการวิจัยของชาติและของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการสร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่อย่างมีทิศทาง ป้องกันการซ้ำซ้อน ประสานประโยชน์ร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัย และเพื่อประหยัดงบประมาณเงินรายได้ที่มีอยู่จำกัดของส่วนงาน

          กรอบของการกำหนดนโยบายทางการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ถูกจัดทำขึ้นให้มีทิศทางที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์การวิจัยของชาติ (พ.ศ.2555-2559) คือ “ประเทศไทยมีและใช้งานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน”  ซึ่งได้มีการกำหนดพันธกิจการวิจัยของชาติ (พ.ศ. 2555-2559) ไว้คือ “พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศให้สูงขึ้น และสร้างฐานความรู้ที่มีคุณค่า สามารถประยุกต์และพัฒนาวิทยาการที่เหมาะสมและแพร่หลาย รวมทั้งให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ ตลอดจนเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้ทรัพยากรและเครือข่ายวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม”  ซึ่งจากวิสัยทัศน์และพันธกิจการวิจัยของชาติดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่า การวิจัยเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศนั้นจะถือได้ว่าเป็นการวิจัยที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน

          ฝ่ายวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จึงจัดการประชุมเสวนากรอบและทิศทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เพื่อสร้างแผนแม่บทการวิจัยของคณะผ่านการกำหนดกรอบและทิศทางการวิจัยที่ครอบคลุมและมุ่งเป้าในศาสตร์และสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นความต้องการในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และเพื่อให้หน่วยงานได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานวิจัย โดยมีอายุเวลานาน 5 ปี ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับช่วงเวลาของแผนยุทธศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์ฉบับปี พ.ศ. 2558-2562 ซึ่งในการนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้และข้อคิดเห็นในการวางแผนการดำเนินงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ผ่านการสร้างและพัฒนากรอบและทิศทางการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ โดยมีรายนามผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมเสวนาและให้ข้อคิดเห็นดังนี้

          1. รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ (ประธานกรรมการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.))
          2. ศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สิทธิกรกุล
          3. ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ ปั้นนิ่ม
          4. รองศาสตราจารย์ ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร  (คณบดีคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ)
          5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมทัศน์ จิระเดชะ (ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย)

          จากการประชุมดังกล่าวฝ่ายวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมข้อคิดเห็นที่มีค่าจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมประชุมมาใช้กำหนดแนวทางในวางกรอบและทิศทางการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานวิจัยคระวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 และที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะครั้งที่ 18/2557  เมื่อวันที่26 พฤศจิกายน 2557 โดยมีมติอนุมัติให้บรรจุเป็นแผนการดำเนินงานวิจัยและเป็นกรอบทิศทางการวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ กำหนดใช้ในปี งบประมาณ 2558 เป็นต้นไป โดยกรอบทิศทางการวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มีทั้งสิ้น 9 กรอบทิศทางดังนี้

 

กรอบและทิศทางการวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2558 – 2562

  ทิศทางที่ 1 : ด้านการเพิ่มมูลค่า เพิ่มผลผลิต และ ลดต้นทุนการผลิต ของพืชเศรษฐกิจและพืชสวน
•    กรอบวิจัย ข้าวเพื่อการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่า
•    กรอบวิจัย การเพิ่มมูลค่าอ้อยและน้ำตาล
•    กรอบวิจัย มันสำปะหลังเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่า
•    กรอบวิจัย ยางพาราเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่า
•    กรอบวิจัย ปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนการผลิต
•    กรอบวิจัย พืชสวน (ไม้ผล พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ) ผลผลิตและเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนการผลิต

  ทิศทางที่ 2 : ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และ การท่องเที่ยว
•    กรอบวิจัย สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
•    กรอบวิจัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
•    กรอบวิจัย การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
•    กรอบวิจัย พลาสติกชีวภาพในประเทศไทย
•    กรอบวิจัย ผลกระทบการใช้แร่ใยหินและศึกษาวัสดุทดแทน
•    กรอบวิจัย การบริหารจัดการการท่องเที่ยว

  ทิศทางที่ 3 : ด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และ ยา
•    กรอบวิจัย สมุนไพรไทย อาหารเสริม ยา และสปา
•    กรอบวิจัย อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและการค้า

  ทิศทางที่ 4 : ด้านการคมนาคม และ โลจิสติกส์
•    กรอบวิจัย โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
•    กรอบวิจัย การคมนาคมขนส่งระบบราง

  ทิศทางที่ 5 :  ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสัตว์เศรษฐกิจ
•    กรอบวิจัย การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
•    กรอบวิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพ
•    กรอบวิจัย การวิจัยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้านสัตว์เศรษฐกิจ

  ทิศทางที่ 6 :  ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และพฤติกรรมศาสตร์
•    กรอบวิจัย วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ เพื่อทดแทนการนำเข้าหรือลดภาระรายจ่ายของประเทศ
•    กรอบวิจัย การแพทย์ โภชนาการ และสาธารณสุข
•    กรอบวิจัย ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และบุคคลพิการเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต
•    กรอบวิจัย ด้านการวิจัยและพัฒนาจิตพฤติกรรมเยาวชนและสังคมไทย

  ทิศทางที่ 7 :  ด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ศึกษา
•    กรอบวิจัย การศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้
•    กรอบวิจัย คณิตศาสตร์ สถิติ
•    กรอบวิจัย การวิจัยในชั้นเรียน
•    กรอบวิจัย วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ และดาราศาสตร์

  ทิศทางที่ 8 : ด้าน ICT วิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
•    กรอบวิจัย วัสดุศาสตร์ และนาโนเทคโนโลยี
•    กรอบวิจัย อัญมณีและเครื่องประดับ
•    กรอบวิจัย พลังงานทดแทน
•    กรอบวิจัย เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT)

  ทิศทางที่ 9 : ด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

          ซึ่งกรอบและทิศทางการวิจัยที่ได้นี้จะถูกใช้เป็นตัวกำหนดข้อเสนอโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้าของคณะวิทยาศาสตร์ โดยผู้ขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากเงินรายได้คณะวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องระบุความสอดคล้องของเนื้อหาของงานวิจัยที่กับกรอบทิศทางการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์โดยฝ่ายวิจัยคณะวิทยาศาสตร์จะทำการสรุปสถิติการดำเนินงานวิจัยของบุคคลากรตามทิศทางทั้ง 9 ทิศทาง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้กำหนดแผนแม่บทการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ในปี 2563-2567 ต่อไป